สาเหตุของผมร่วงเกิดจากอะไรได้บ้าง?

สาเหตุของหัวล้าน ผมบาง ในผู้ชายอายุไม่ถึง 30

ภาวะผมบาง หัวล้าน เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของใครหลายคน โดยเฉพาะถ้าอาการนี้มาเร็วกว่าอายุที่ควรจะเป็น โดยไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม จากผลงานวิจัยพบกว่ามีผู้ชายมากถึง 16% ในช่วงอายุ 18-29 ปี ประสบปัญหาผมบางในระดับความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก

การทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น สามารถช่วยคุณให้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผมร่วง ผมบาง และช่วยให้ผมยังอยู่บนศีรษะต่อไปในอนาคตตลอดถึงวัย 30-40 ปี

ผมร่วงจากพันธุกรรม (male pattern baldness)

ภาวะผมร่วงผมบางจากพันธุกรรมเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ชาย สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักจะเริ่มเกิดภาวะนี้ตั้งแต่อายุ 20 ตอนต้นจนไปถึงอายุ 30 โดยอาการของภาวะนี้ได้แก่ แนวไรผมด้านหน้าที่ถอยร่นขึ้นเป็นรูปตัว M เส้นผมที่เส้นเล็กลงและบางลงเมื่อเทียบกับสมัยเด็กๆ และผมบางบริเวณกลางศีรษะ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ไข่ดาว ตรงกลางศีรษะ อ่านเรื่อง male pattern hairloss

ผมร่วงจากสาเหตุนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วคงอยู่ถาวร กล่าวคือไม่สามารถรักษาให้หายขาด 100% ได้ แต่เราสามารถป้องกันและชะลอการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยการใช้ยากิน ยาทา ยาพ่น หรือการฉีดเกล็ดเลือด

ผมร่วงจากภาวะเครียดของร่างกาย

ภาวะเครียดทางกายภาพของร่างกายสามารถส่งผลให้ผมร่วงได้อย่างไม่น่าเชื่อ (telogen effluvium) โดยภาวะเครียดนี้อาจเกิดจากสาเหตุทางกายภาพ เช่น อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด หรืออาจเกิดจากภาวะเครียดทางจิตใจที่ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักกว่าปกติ อาการของภาวะนี้จะมีลักษณะผมร่วงทั่วศีรษะ ไม่ได้เจาะจงตำแหน่ง จะเกิดในช่วงเวลา 2-3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่มีความเครียดต่อร่างกายเกิดขึ้น

ลักษณะผมร่วงแบบนี้ สามารถหายเป็นปกติได้เอง ไม่ได้คงอยู่ถาวรเหมือนในภาวะผมร่วงจากพันธุกรรมเหมือนที่กล่าวไปในเบื้องต้น แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ 100%

โรคติดเชื้อและอาการเจ็บป่วย

โรคบางโรคสามารถทำให้เกิดภาวะผมร่วง และผมบางได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาวะไทรอยด์ ไม่ว่าไทรอยด์เปนพิษ หรือไทรอยด์น้อยผิดปกติก็ส่งผลต่อเส้นผมได้ การติดเชื้อราบริเวณหนังศีรษะก็ส่งผลต่อเส้นผมเช่นกัน รวมไปถึงโรคที่เรียกว่า มีภูมิคุ้มกันต่อตนเอง หรือแพ้ภูมิตนเอง ก็ส่งผลให้ผมร่วงและบางลงได้เช่นกัน

ภาวะขาดสารอาหารและแร่ธาตุ

การขาดสารอาหารบางชนิดก็ส่งผลให้เส้นผมเปราะ บาง และร่วงได้ เช่น การขาดธาตุสังกะสี (Zinc), ขาด Biotin หรือ ภาวะขาดโปรตีน (marasmus) ก็ส่งผลต่อเส้นผมทั้งสิ้น

ผมร่วงจากการบาดเจ็บที่หนังศีรษะ

การบาดเจ็บบริเวณหนังศีรษะบางชนิด เช่น การบาดเจ็บจากการดึงอย่างรุนแรง จากเทคนิคการทำผม ดัดผม หรือสีผม ก็ทำให้เส้นผมบาดเจ็บและร่วงได้ (traction alopecia)

ผมร่วงจากการดึงผม

โรคดึงผมตัวเอง (trichotillomania) เป็นโรคที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดึงผมของตัวเองซ้ำๆ ในจุดเดิม ทำให้หนังศีรษะบริเวณที่ดึงได้รับบาดเจ็บ ในช่วงแรกอาจจะมีเส้นผมยาวกลับขึ้นมาตามปกติ แต่หากทำบ่อยมากขึ้น จะส่งผลให้ไม่มีผลขึ้นอีกต่อไป

บทความน่ารู้