ทำไมถึงมี “ผมหงอก” หลังปลูกผม
หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยหลังการผ่าตัดปลูกผมคือภาวะ “ผมหงอก” ของเส้นผมบริเวณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านหลังที่นำกราฟออกมา หรือผมเดิมที่ไม่ได้โดนเจาะ ก็อาจพบภาวะนี้ได้เช่นกัน
ในภาวะปกติ การเกิดสีต่างๆ ของเส้นผมเกิดจากเม็ดสีในร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า เมลานิน (melanin) ซึ่งผลิตโดยเซลล์ที่ชื่อ เมลาโนไซท์ (melanocyte) โดยเมลานินนี้จะถูกผลิตบริเวณหนังศีรษะที่มีรากผมในชั้นหนังแท้ และจะผลิตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการยาวขึ้นของเส้นผม
ในการผ่าตัดปลูกผม การเจาะกราฟจากบริเวณท้ายทอยไปใช้ ทำให้เกิดแผลที่หนังศีรษะขนาดเล็กหลายๆจุด การเกิดแผลจึงทำให้เซลล์ต่างๆ ในชั้นหนังแท้เกิดความเครียด และหยุดทำงานชั่วคราว รวมไปถึงเซลล์ melanocyte ด้วย แต่เมื่อรากผมยังคงผลิตเส้นผมอยู่ จึงทำให้ผมบางส่วนงอกออกมาเป็นสีขาว ลักษณะเหมือนผมหงอก
หลังจากนั้นเมื่อชั้นหนังแท้ฟื้นตัว การทำงานของเซลล์กลับมาอีกครั้ง ผมจึงกลับมามีสีดำตามปกติ โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น และสามารถหายได้เองตามปกติ
หากดูในรูปของเคสนี้ จะสังเกตได้ว่า ผมที่เป็นสีขาวจะเป็นเฉพาะบริเวณตรงกลางจนไปถึงปลายสุดของเส้นผม ความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเซลล์ melanocyte ได้หยุดทำงานไปตั้งแต่เริ่มเจาะกราฟ จนถึงประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังปลูก จากนั้นบริเวณโคนผมกลับมาเป็นสีดำตามปกติ
Ref: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6371733/